ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 ต่างกันยังไง 'โควิดรอบใหม่' ได้ 'เยียวยา' อะไรบ้าง
07 กันยายน 2565
โควิด -19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและรายได้ของประชาชนอีกครั้ง โดยในครั้งนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามออกมาตรการ "เยียวยา" เพื่อช่วยลดผลกระทบในมิติต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ มาตราการเยียวยาจาก "สำนักงานประกันสังคม" ที่ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย
"การเยียวยาโควิด" รอบใหม่จาก "ประกันสังคม" แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือลูกจ้างที่ ทำงานอยู่ในสถานประกอบการซึ่งมีนายจ้าง ประกันสังคมมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ไม่มีนายจ้าง โดยแบ่ง การเยียวยาได้ ดังนี้
1. ประกันสังคมมาตรา 33 ได้รับการเยียวยา อะไรบ้าง?
- ลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ลูกจ้าง-นายจ้าง เหลือร้อยละ 3 ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. 64
กรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินชดเชยร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 200 วัน (จากเดิมได้ร้อยละ 50 ปีละไม่เกิน 180 วัน)
- การว่างงานจากการลาออก ได้รับเงินชดเชย ร้อยละ 45 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน (เดิมอยู่ที่ร้อยละ 30 ไม่เกิน 90 วัน)
- การว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (จากประกาศของทางราชการที่สั่งปิดพื้นที่ฯ หรือหยุดการปฏิบัติงานในโรงงานต่างๆ) จะได้รับเงินชดเชย ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน และถ้าเป็นการหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด นายจ้างต้องจ่ายเงินให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่า ร้อยละ 75 ของค่าจ้าง ก่อนหยุดการจ้างเป็นการชั่วคราว
2. ประกันสังคมมาตรา 39 และมาตรา 40 ได้รับการเยียวยา อะไรบ้าง?
สำหรับผู้ประกันตน ประกันสังคมมาตรา 39 และมาตรา 40 เป็นผู้ประกันตนเองที่ไม่มีนายจ้าง เป็นกลุ่มที่มีลุ้นว่าจะได้รับการเยียวยาจากโครงการ “เราชนะ” ที่คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ปลายเดือนมกราคมนี้ ซึ่งจะมีขั้นตอนการลงทะเบียนอย่างไร จะต้องรอการอนุมัติจากมติ ครม. วันที่ 19 ม.ค. 64 อีกครั้งหนึ่ง
โดยโครงการ “เราชนะ” เป็นโครงการเยียวยาประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ระลอกใหม่
ประชาชนกลุ่มนี้จะได้รับเงินเยียวยารายละ 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน นั่นหมายความว่าผู้ที่มีสิทธิจะได้รับเงินรวม 7,000 บาทต่อคน ภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564
นอกจากนี้ตามหลักการแล้ว คาดว่าลูกจ้างที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 จะไม่ได้รับสิทธินี้ เนื่องจากได้รับการเยียวยาในกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ไปแล้ว
ทั้งนี้ หลายคนอาจยังสงสัยว่าประกันสังคมในมาตรา 33 39 และ 40 แตกต่างกันอย่างไร? ดังนี้
• มาตรา 33
คุณสมบัติ
- พนักงานเอกชนทั่วไป ลูกจ้างที่ยังทำงานในสถานประกอบการที่มีนายจ้าง
เงินสมทบ
- 5% ของเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน
สิทธิประโยชน์
- ว่างงาน
- เจ็บป่วย
- คลอดบุตร
- สงเคราะห์บุตร
- ทุพพลภาพ
- ชราภาพ
- เสียชีวิต
การสมัคร
- นายจ้างดำเนินการให้
• มาตรา 39
คุณสมบัติ
- ลาออกจากพนักงานเอกชนแล้ว
1.เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33
2.ส่งเงินสมทบมากกว่า 12 เดือน
3.ลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน
เงินสมทบ
- 432 บาท/เดือน
สิทธิประโยชน์
- เจ็บป่วย
- คลอดบุตร
- สงเคราะห์บุตร
- ทุพพลภาพ
- ชราภาพ
- เสียชีวิต
การสมัคร
- สมัครด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่
• มาตรา 40
คุณสมบัติ
- อาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ค้าขาย
เงินสมทบ
- ทางเลือก 1 : 70 บาท/เดือน
- ทางเลือก 2 : 100 บาท/เดือน
- ทางเลือก 3 : 300 บาท/เดือน
สิทธิประโยชน์
- ทางเลือก 1 : เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต
- ทางเลือก 2 : เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ
- ทางเลือก 3 : เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ สงเคราะห์บุตร
การสมัคร
- สมัครด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่
- สมัครผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม
Cr.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
TAGS : โควิด19 , อัปเดตตำแหน่งงาน , สมัครงาน , รับสมัครงาน , สำนักงานประกันสังคม , เงินเยียวยา , ข่าววันนี้ , ประกันสังคม , เงินเยียวยา , อัพเดตตำแหน่งงาน , บทความผู้หางาน